ระยะทางไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

วันที่เผยแพร่ 16 Mar 2021

ภาพรวมปัญหาอุบัติเหตุในประเทศไทย 
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็น 1 ใน 5 ของสาเหตุการเสียชีวิตหลักของคนไทย โดยในทุกๆ วัน คนไทยหลายสิบล้านคนต้องเสี่ยงภัยกับภัยร้ายใกล้ตัวนี้ นับตั้งแต่ก้าวออกจากประตูบ้านไม่ว่าจะใช้ระยะเวลาหรือระยะทางใกล้หรือไกลก็มีความเสี่ยง

ขณะที่ในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2561 พบว่าผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของไทย ส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด (ร้อยละ 74.4) เทียบกับผู้เสียชีวิตจากรถยนต์ที่ร้อยละ 12.7 ผู้เดินเท้าร้อยละ 7.6 ผู้ขี่จักรยาน ร้อยละ 3.5 และผู้ใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 2.3

ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) รายงานว่า ในปี 2562 มีรายงานอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศจำนวน 865,038 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 7,824 คน บาดเจ็บ 854,593 คน และทุพพลภาพ 2,621 คน เทียบกับอุบัติเหตุในปี 2561 จำนวน 829,201 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,849 คน บาดเจ็บ 818,803 คน และทุพพลภาพ 2,549 คน ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ในปี 2562 มีจำนวนครั้งของอุบัติเหตุสูงขึ้น ส่วนในปี 2563 Thai RSC ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 พบว่ามีอุบัติเหตุจำนวน 753,823 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,946 คน บาดเจ็บ 744,568 คน และทุพพลภาพ 2,309 คน ​

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมได้วิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางท้องถนนในประเทศไทย ดังนี้

  1. อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการชน ซึ่งรถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงในการบาดเจ็บสูงมากกว่ารถยนต์
  2. อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากบุคคล เช่น การขับรถเร็ว ขับรถตัดหน้าไม่เคารพกฎจราจร 
  3. อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ เช่น ห้ามล้อขัดข้อง 
  4. อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น ฝนตกถนนลื่น ทางโค้ง 
  5. อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสัญญาณไฟจราจร / ป้ายบอกทางที่ไม่ชัดเจน

" สร้างทีมรวมพลัง พาชุมชนพ้นจุดเสี่ยง
กับโครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 2
เปิดรับสมัคร 19 เม.ย. - 18 มิ.ย. 2564 "